Responsive Web Design สำหรับมือใหม่นั้น ควรรู้เรื่องแนวคิด PC-First และ Mobile-First ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอนนี้ดูจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปแล้ว (ดู slide ที่ผมเคยใช้แนะนำในงานสัมมนาได้ที่นี่)
แต่ในการทำงานจริงๆ คุณอาจจะเจอโปรเจคงานที่ไม่เข้าเคสทั้ง 2 แบบ ผมก็คิดว่าจริงๆ แล้วเราน่าจะมีแผนรับมือกับโปรเจค Responsive Web Design ต่างๆ หลากหลายกว่านี้ เลยไปหาข้อมูลมา มันต้องมีมากกว่านี้ซี่
ไปป้ะครับ เลยเอามาเขียนรวมกับแนวคิดที่ผมสอนเดิม เพื่อให้พวกเราได้เอาไปปรับใช้ตามสถานการณ์กัน
เนื้อหาบางส่วนผมได้นำมาจากเว็บของคุณ Brad Frost โดยนำมาเพิ่มมุมมอง และแนวคิดจากประสบการณ์ที่ทำและได้ไปโค้ชสอนนักเรียนหลายๆ ที่มา ลองศึกษาดูครับ
1. ใหญ่ไปเล็ก (PC-First, Retrofitting Responsive Web Design)
เป็นวิธีที่ใช้กันมากที่สุด กับการแปลงเว็บไซต์ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับอุปกรณ์พกพา (ต้นฉบับคุณ Brad Frost เรียกว่า Retrofitting ส่วนของผมเรียก PC-First)
ข้อดี
- ทำได้เร็วสุด เรียนรู้เทคนิค และนำไปใช้ได้ทันที เหมือนเพิ่ม CSS เข้าไปใน HTML ของเราอีก 1 ไฟล์
- คนเข้าเว็บไม่งง ส่วนต่างๆ ของเว็บแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ใช้ยังคุ้นเคยกับการใช้งานแบบเดิม
- จัดการได้เร็วกว่า สามารถใช้พวกรูปภาพหรือ content ต่างๆ เหมือนเดิมได้ ไม่ต้องมานั่งพิจารณากันใหม่
ข้อเสีย
- เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยที่สุด เลยถูกเลือกใช้เป็นวิธีแรกๆ ในการแปลงเว็บ ในอนาคตอาจต้องกลับมาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง (ช่วงเวลาที่ผมเขียนอยู่นี้ ผมเรียกว่ายุคยำ 3 สหาย คือ PC, Tablet, Smartphone)
- ผู้ใช้จะอ่านเนื้อหาได้ยากกว่า ลองนึกถึงการอ่านข้อความบนปลาเส้นทาโร่ที่ยาวเป็นพิเศษ การทำ Responsive Web แบบ PC-First จะเป็นการบีบความกว้างในการแสดงผลเว็บให้เล็กลง บังคับให้ข้อมูลต้องเรียงกันในแนวที่ยาวกว่าการอ่านข้อมูลทั่วไป
- เว็บจะอืดกว่าการใช้วิธีอื่น เพราะปรับเปลี่ยนแค่หน้าตา แต่ความหนักของเว็บคงเดิม ให้นึกถึงคนที่ไปศัลยกรรม แต่ยังไม่ลดนำ้หนัก
- ไม่ได้เป็น Responsive Web ที่แท้จริง ซึ่งการออกแบบ Responsive Web Design เป็นการคิดที่แตกต่างจาก Web design สำหรับคอมพิวเตอร์ทั่วไปเกือบจะสิ้นเชิง ทั้งในแง่การนำเสนอข้อมูล และการใช้งาน PC-First เป็น
- เว็บบราวเซอร์รองรับไม่กว้างเท่าแบบ Mobile-first
2. แยกเว็บใหม่ทำต่างหาก (Responsive Mobile Site)
วิธีนี้ เหมาะสำหรับเจ้าของเว็บขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนโฉมเว็บแบบทันที ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความสับสนแก่ลูกค้า และทีมก็อาจจะยังไม่พร้อม เป็นแผนแยกทัพออกเป็น 2 กอง เข้าตีเมืองแบบคู่ขนาน
โดยให้เว็บไซต์เดิม (ที่ไม่เป็น Responsive) ทำหน้าที่ตามปกติ ในอีกทาง ให้สร้างเว็บที่เป็น Responsive ใหม่อีกอัน เอาไปไว้ใน sub domain อย่าง m.nextflow.in.th หรือ www.nextflow.in.th/mobile แล้วใช้ developer ช่วยแยกคนเข้าเว็บจากอุปกรณ์ให้ไปที่เว็บ responsive
ปัจจุบันมียักษ์ใหญ่อย่าง BBC.com และ The Guardian ใช้วิธีนี้อยู่
ข้อดี
- เสี่ยงน้อยกว่า เจ้าของเว็บไม่ต้องเสี่ยงกับผลตอบรับของการเปลี่ยนรูปแบบเว็บที่อาจออกมาเป็นลบ ซึ่งสำคัญมากในเว็บธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ หรือพวกเว็บโรงเรียน และมหาวิทยาลัย, เว็บหน่วยงานราชการ, เว็บขายของออนไลน์ขนาดใหญ่, และเว็บองค์กรต่างๆ ที่ต้องรองรับลูกค้าจำนวนมาก
- ได้ใช้เวลาเรียนรู้โลกใหม่ของ Web Design อย่างที่บอก ทีมขนาดใหญ่จะไม่ช้อคกับการเปลี่ยนแนวคิด และกระบวนการทำงานในทันที สามารถปรับตัว และเรียนรู้ไปทีละส่วน และไม่ต้องแบกรับงาน หรือปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อนในทันที
- เหมาะกับการค่อยๆ เปลี่ยนเป็น mobile site เต็มรูปแบบในอนาคต
ข้อเสีย
ข้อเสียที่เห็นชัดเจนเลย คือวิธีการนี้เหมาะกับเว็บขนาดใหญ่ ที่มีทีมดูแลเว็บโดยเฉพาะจริงๆ เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายด้านเงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น จะมีผลเสียต่างๆ ดังนี้
- เว็บยังแยกเป็น 2 ส่วน ใช้ทรัพยาการเพิ่ม และผลกระทบต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่การลงทุน เหมือนเราต้มแกงแบบเดียว พร้อมกัน 2 หม้อ จะมีเรื่องของการจัดการ Content, ระบบหลังบ้าน, และ SEO ที่ต้องแบกรับไปพร้อมๆ กัน
- ผู้บริหารระดับสูงอาจจะเห็นโครงการนี้เป็นส่วนเกิน มีการตัดงบ และสุดท้ายก็ยุบโปรเจคส่วนนี้ทิ้ง (เพราะคิดว่าทำไมต้องมี 2 เว็บ) ทำให้ตกขบวนรถ Mobile Website ในที่สุด นี่เป็นเหตุการณ์จริงที่ผมไป consult และเจอมา
3. คิดจะทำเว็บ คิดถึงมือถือก่อน (Mobile-First Responsive Web Design)
ไม่ใช่การออกแบบเว็บไซต์สำหรับ Smartphone แบบใดแบบหนึง แต่เป็นการออกแบบเว็บไซต์ ให้กับสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์พกพาตั้งแต่แรก จะมีการพิจารณาด้านการใช้งาน, ความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต, รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ตลอดการออกแบบและสร้างเว็บไซต์ เป็นแนวคิดที่เน้นการออกแบบเพื่อใช้งานเว็บไซต์บนอุปกรณ์พกพาโดยตรง
ข้อดี
- เหมือนได้ทำเว็บใหม่ Mobile-First จะทำให้เราได้พิจารณาถึงข้อเสียต่างๆ ที่เรามีบนเว็บเก่าที่มี และนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับเว็บ Responsive โดยใส่แนวความคิดใหม่ๆ ได้เต็มที่
- เว็บเร็วกว่า สร้างเว็บโดยพิจารณาเนื้อหาจริงๆ ที่จะนำเสนอบนเว็บไซต์ ทำให้ตัวเว็บเบามากขึ้น โหลดได้เร็วขึ้น
- รองรับอุปกรณ์และขนาดหน้าจอได้มากกว่า Mobile-First เป็นแนวคิดที่ไม่ยึดติดกับอุปกรณ์ยี่ห้อใดยี่ห้อหนึง หรือชิ้นใดชิ้นหนึง ทำให้ตัวเว็บที่สร้างสามารถแสดงผลบนหน้าจอต่างๆ ได้อย่างสวยงามและเหมาะสม
- รองรับของใหม่ๆ ในอนาคต ด้วยแนวคิดแบบ Mobile-First จะทำให้ตัวเว็บของเรายืดหยุ่นมากขึ้น รองรับของใหม่ๆ เช่น Google Glass และ Android Wear
ข้อเสีย
ข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดในที่นี้คือมันใหม่! ใช่ มันเป็นวิธีมองการออกแบบและสร้างเว็บไซต์ใหม่ แบบที่ของเก่าๆ ที่เราทำกันมา 10 ปี แตกต่างกับแบบนี้แทบสิ้นเชิง
- ใช้เวลานานกว่าแบบอื่น Mobile-First ไม่ใช่ทางลัด โดยผมจะแนะนำทุกที่ที่ไปสอน ว่าการย่อขนาดเว็บอย่างเดียวแล้วคิดว่าทำ Responsive Web Design แล้วเป็นความคิดที่ผิด ต้องอาศัยความเข้าใจ, เวลา, และเทคนิคต่างๆ เสริมเข้าไปด้วย
- ทีมต้องเรียนรู้แนวความคิดใหม่ หากคุณทำเว็บมานานแล้ว หรือมีทีมที่ทำเว็บมานาน ของใหม่นี้จะแตกต่างจากที่คุณและทีมรู้มาแทบทั้งหมด ต้องมีการปรับตัว เรียนรู้กันเพิ่มเติมเยอะทีเดียว (ลองนึกภาพคุณเป็นคนขายข้าวแกงเนื้อ แต่ต้องไปขายอาหารในย่านคนกินมังสวิรัติดู)
- การไม่เข้าใจความสำคัญและแนวคิดที่ถูกต้อง ปัญหานี้อาจจะเกิดขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ หรือหน่วยงานอื่นๆ อาจจะเข้าใจเรื่อง Responsive Web Design ผิดไป หรือคลาดเคลื่อนจากความจริง
- ลูกค้าอาจจะไม่คุ้น หากคิดว่าเราเอาเว็บไซต์ใหม่ใส่แทนที่เว็บเก่าที่คนใช้กันมาสัก 3 ปีได้ทันที อาจจะคิดผิดไป (จำตอนที่ Facebook เปลี่ยนหน้าตาเว็บใหม่ๆ ได้ไหมครับ?) แต่เราสามารถใช้แผนการ เพื่อค่อยๆ ปรับใช้เว็บที่เป็น responsive ให้กับลูกค้า ไม่ให้ลูกค้าเกิดอาการช๊อค หรือ “โดนหมัดตรง” ตอนกลับมาเข้าเว็บคุณในวันรุ่งขึ้น
4. ทำทีละส่วน (Piecemeal)
ตามชื่อเลยครับ ให้นึกถึงเค้ก 2 ปอนด์ที่เราต้องกินให้หมด! เราสามารถหั่นมันออกเป็นชิ้นๆ แล้วค่อยๆ กินทีละชิ้น มากกว่าที่จะสวาปามทั้งก้อนครับ
โดยให้เรามองเว็บไซต์เราทั้งหมดเป็นเค้กทั้งก้อน และมอง web page ต่างๆ เป็นเค้กที่ถูกหั่นออกเป็นชิ้นๆ และค่อยๆ ให้เปลี่ยนมันเป็น Responsive ทีละส่วนๆ จนครบ
ถ้าศึกษาข้อ 1 และ 2 แล้ว จะเป็นว่าวิธีที่ 4 นี้เหมือนเป็นส่วนผสมของ 2 ข้อนั่นเลย
ข้อดี
- เห็นได้ชัดเจน วัดผลได้ชัดเจน วิธีนี้เราอาจจะเลือกเพจที่มีคนเข้าดูเยอะที่สุดมาทำเป็น Responsive แล้วสังเกตการตอบสนองของผู้เข้าเว็บว่ามีอาการอย่างไร และปรับแต่งอย่างรวดเร็ว
- เรียนรู้ได้คล่องตัวกว่า การเปลี่ยนเว็บที่ละส่วนให้เป็น Responsive นั้น จะทำให้ทีม และฝ่ายออกแบบเรียนรู้การทำงานได้สะดวกกว่า
- ทำเสร็จเร็วกว่า การเปลี่ยนเว็บทุกส่วนให้เสร็จอาจจะใช้เวลานาน การใช้วิธีนี้จะทำให้เว็บเราเป็น Responsive ทีละส่วนๆ ซึ่งจะเห็นการพัฒนามากกว่าทำทีเดียวจบ
ข้อเสีย
- ความไม่เข้ากันของเว็บทั้งหมด ผู้ใช้อาจจะประหลาดใจถ้าคลิกลิ้งค์ในเพจที่ทำ Responsive แล้วไปเจอเพจที่ยังเป็นแบบเดิมอยู่ จุดนี้รุนแรงที่สุดในเรื่องความเหมือนกันของเว็บทั้งหมด (Consistency) มีผลต่อความเชื่อมั่น และความรู้สึกของผู้ใช้
- มองเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย การเปลี่ยนทีละส่วนจะดูใช้เวลาน้อยกว่า แต่หากนับในภาครวมของการเปลี่ยนทั้งเว็บไซต์ อาจจะประเมินเวลาและทรัพยากรผิดเอาง่ายๆ
- โปรเจคมีสิทธิ์ล่ม การวางแผนที่ไม่รัดกุม ทำให้โครงการใช้เวลานานกว่าเดิม สุ่มเสี่ยงต่อการล้มโครงการ เพราะมีงานอื่นที่อาจสำคัญกว่าเข้ามาแทน
สรุปเราควรเลือกแบบไหน?
แน่นอน การเลือกใช้แผนทั้ง 4 แบบต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ คุณอาจจะเลือกใช้แบบที่ 2 หรือว่าแบบที่ 4 ก็ได้ แต่ก็ต้องพิจารณาผลเสียที่จะตามมาด้วย โดยส่วนตัว ผมขอแนะนำดังนี้
- ถ้าคุณมีองค์กรที่ใหญ่ ทีมดูแลหลายส่วน ลองพิจารณา วิธีที่ 2 และ 4 นอกจากมั่นใจว่าทีมคุณว่องไว และแกร่งจริงๆ ถึงมาดูวิธีที่ 3 ถ้ามีคำถามติดต่อผมได้ทาง email ผมยินดีเข้าไปให้ความเข้าใจถึงที่
- ถ้าคุณเป็นทีมขนาดเล็ก และมีเวลาพอสมควร ปรับตัวมาเรียนรู้วิธีที่ 3 จะซึมซับได้ไวกว่า คล่องตัวกว่า และใช้ได้ต่อเนื่องระยะยาวในอนาคต
- ถ้าคุณเป็นอาจารย์ และกำลังสอนให้นักเรียน นักศึกษาทำ Web Design หรือสร้าง Web วิธีที่ 3 Mobile-First จะเป็นทางที่ดีที่สุดสำหรับน้องๆ ที่กำลังเริ่มต้น เพราะเรียนรู้ได้ไม่ยาก
สำหรับวิธีที่ 1 นั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะจะมีปัญหาในระยะยาว (แต่มันใช้เวลาน้อยที่สุดนี่?) ลองพิจารณาเอานะครับ
ถ้ามีไอเดียแจ่มๆ ก็คุยกันใน comment ด้านล่างกันได้ครับ
เนื้อหาบางส่วนจาก Brad Frost Web
[sb name=”Bottom-Post-Ads”]