สวัสดีครับทุกคน พลคนเดิมครับ
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 มีการพูดถึงเทรนด์ใหม่ของ AI ซึ่งพัฒนาต่อยอดจาก Generative AI ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี นั่นคือ AI Agent หรือ “ผู้ช่วยอัจฉริยะ” ที่จะเข้ามาทำงานแทนเราได้มากกว่าแค่กดปุ่มสั่งการทั่วไปในปีที่แล้ว
วันนี้พลขอลองมาสรุป แนวคิด และความเป็นไปได้ในอนาคตของ AI Agent ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้กัน
1. จากปุ่มกด สู่ “Agent” อัจฉริยะ
ในช่วงปลายปี 2022 ถึงปลายปี 2024 เราได้สัมผัส Generative AI ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่ช่วยงานได้อย่างหลากหลาย แต่รูปแบบการใช้งานยังคงเป็นการ “สั่งงานจากผู้ใช้” เช่น
- พิมพ์ Prompt เพื่อให้ AI สร้างเนื้อหา หรือประมวผลข้อมูล
- ใช้แนวคิด RAG (Retrieval-Augmented Generation) ที่ยังมีกลไกการเริ่มต้นการทำงานโดยผู้ใช้อย่างเราๆ
ซึ่งถามว่า แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะไหม ก็ถือว่าช่วยได้เยอะทีเดียว (อ่านต่อได้ใน Work trend index 2024) แถมการช่วยให้ชีวิตมนุษย์ทำงานสบายขึ้น ก็มาพร้อมกับคำถาม และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วย
ถ้าใครได้อ่าน Work Trend Index และศึกษาลึกๆ หน่อย ก็คงไม่แปลกใจที่ทิศทางของการใช้งาน AI รูปแบบนี้ ก็กำลังจะมีส่วนที่มาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป ในรูปแบบที่เรียกว่า AI Agent นั่นเอง
2. นิยามใหม่ของ “อัตโนมัติ” กับ AI Agent
เปลี่ยน AI จาก ‘แอปนั่งเงียบ’ สู่ ‘ผู้ช่วยเดินงานแทน’
จากบทบาทเดิม ที่เหมือนว่า AI เป็นแค่แอพพลิเคชั่นที่นั่งอยู่เงียบๆ รอให้พวกเรามาเรียกใช้ แล้วพอเสร็จงานก็กลับไปนั่งที่เดิม
มาในนิยามของ Agent คือการที่พวกเราเริ่มมอบบทบาท และหน้าที่บางอย่างในการทำงานมากขึ้น เช่น การไว้วางใจให้มันทำการดึงข้อมูลมาจากแหล่งข้อมูลที่เรากำหนดไว้ล่วงหน้า และการทำงานนี้อาจจะทำรอเราไว้เลย แทนที่จะให้เราสั่งงานด้วยตัวเอง
ในงาน Microsoft Ignite 2024 มีตัวอย่างที่น่าสนใจใน Session BRK274 ที่ Microsoft แนะนำชิ้นส่วนสำคัญในการลักษณะของ AI Agent ที่เราสามารถกำหนดรูปแบบการทำงานด้วย prompt และตั้งเวลา, เงื่อนไข, หรือแหล่งข้อมูลใน Microsoft 365 ให้ Agent ของเราเตรียมงานไว้ให้เราได้ทันที
และ Session BRK161 ที่ Microsoft นำแนวคิด Agent มา implement ในรูปแบบของผู้เชี่ยวชาญในองค์กร ที่มีความซับซ้อนสูง
จนเข้าใจในระดับหนึงว่า งานแบบไหนที่เราจำเป็นต้องอาศัย reasoning model ที่สามารถเข้าใจบริบทที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ รวมถึงวิเคราะห์แยกแยะขั้นตอนการทำงานแบบละเอียด จนเสนอเป็นลำดับการทำงาน ที่พวกเราสามารถพิจารณาและปรับแต่งได้
ซึ่งเราจะพบเห็นรูปแบบนี้ได้ใน Copilot Workspace หรือ Copilot for Finance ของ Microsoft
ดังนั้นรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจนในการสร้าง Agent Solution แบบแรก (เชื่อว่าจะมีแบบอื่นๆ ตามออกมาอีกในปีนี้ด้วย) ก็คือการที่มีสภาพแวดล้อมที่สามารถหลอมรวม workflow ในองค์กร เข้ากับการทำงานที่เราใช้งาน Generative AI ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
AI Agent solution #1 = LLM + Prompt + Data source + Trigger
ซึ่งแบบนี้จะง่ายสุด เพราะจริงๆ พวกเรามีของแบบนี้อยู่ใน Microsoft Power Platform อยู่แล้ว ดังที่ Satya เชียร์ Copilot Studio ในงาน Ignite 2024 อย่างชัดเจน
กับอีกแบบหนึ่ง ก็คือการรวมส่วนนี้เข้ากับ User Interface ดังที่เห็นตัวอย่างของ Copilot for Finance ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายๆ กับ Copilot Workspace ด้านบนมาก แตกต่างที่เราสามารถบันทึกขั้นตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำซ้ำได้เรื่อยๆ
ซึ่งการทำงานแบบนี้คือการผนวกแนวคิดของ AI Agent เข้าไปใน Platform หรือแอพพลิเคชั่นของเราแทน แตกต่างจากที่ Microsoft ทำบน Microsoft 365 ผ่าน Copilot Studio ให้ดูเป็นตัวอย่าง
ถ้าคิดไม่ผิด Microsoft เลยวางหน้านี้ตรงนี้ให้เป็นของ Azure AI Foundry ที่จะทำหน้าที่เป็นเบื้องหลังของระบบ User Interface ที่มีอยู่ และสามารถแตกแขนงไอเดียใหม่ๆ ในการทำ AI Agent ได้หลากหลายมากกว่า
3. AI Agent “เชื่อใจได้” แค่ไหน?
คำตอบตรง ๆ คือ “ยังไม่ 100%”
- Hallucination หรืออาการ “หลอน” ของโมเดลยังมีอยู่
- ในปี 2025 อาจมีนวัตกรรมใหม่เข้ามาลดข้อจำกัดต่าง ๆ เหล่านี้ได้
- Best practice ในการใช้งาน LLM ที่มีมาตั้งแต่ต้นปี 2024 จะช่วยให้องค์กรสร้าง AI Agent ได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
เมื่อยิ่งปล่อยให้ AI มาทำงานแทนเรามากกว่าเดิมเนี่ย ความสำคัญของการกำกับดูแล (governance) การใช้งานในองค์กร และการให้มนุษย์จริงๆ ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบการทำงานจึงยิ่งเพิ่มขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความถูกต้องและเหมาะสม
4. Responsible AI ในยุค AI Agent
ส่วนตัวพลมองว่า AI Agent จะเป็นกระบวนท่าใหม่อีกท่า ในการที่เราจะนำความสามารถของ AI มาหลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไหนก็ตาม
ซึ่งการมาถึงของรูปแบบใหม่นี้ ก็จะไม่พ้นเรื่องของ Responsible AI ที่ยังเป็นแนวทางที่เหมาะสม และควรใส่ใจในการนำ AI Agent มาใส่เป็นส่วนหนึ่งของ solution
เพราะถ้าปีที่แล้ว เรายังสบายใจอยู่ ที่เอฟเฟคจากการใช้งาน AI ยังควบคุมอยู่ในรูปแบบที่เป็นแอพกดปุ่มเปิดปิดได้ ปีนี้เราเริ่มไว้ใจมันมากขึ้น เรากำลังจะมอบสิทธิ์ในการทำงานหลายอย่างให้กับมัน เพื่อให้มันมีส่วนในการช่วยเราทำงานได้ดีกว่าเดิม
เรื่องของการควบคุมการเข้าถึง หรือการสื่อสารกับคนร่วมงานเบื้องต้น จะชัดเจนกว่าเมื่อก่อนเพราะ use case ชัดเจนมากขึ้นครับ
ปี 2024 แล้วดร.โกเมษ หรือพี่เมษ ได้กลายเป็น Microsoft MVP ด้าน Responsible AI โดยเฉพาะ พลก็ได้เรียนรู้จากพี่เมษมาเยอะ ปีนี้คิดว่าน่าจะมี case ที่น่าสนใจต่างๆ อีกหลายเรื่องแน่ ยังไงก็ติดตามอัพเดตได้ทั้งบน facebook และ youtube นะครับ
ส่งท้าย
AI Agent กำลังจะเปิดปีใหม่ในการใช้งาน Generative AI จากแค่สั่งงานด้วยตนเอง สู่วิธีที่ AI มา “นั่งทำงาน” กับเรา ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้อมูล วางแผน แนะนำขั้นตอน ไปจนถึงทำงานแทนบางส่วนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม องค์กรและคนทำ Solution ยังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในการนำ AI Agent มาใช้งาน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทาง Responsible AI ที่กำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ
เป็นบทความเจิมต้นปีนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนหนึ่ง จากที่ได้อยู่ในโปรเจคของลูกค้า และได้ร่วมงานกับเพื่อนพี่น้องหลายๆ ท่านในปีที่แล้ว แล้วมารอดูกันครับว่าปี 2025 จะมีอะไรให้เราได้ “ว้าว” กันอีกบ้าง