ยังอยู่กับงาน Microsoft Ignite 2024 กันต่อนะครับ 😉
ในที่นี้ นอกจากการเปิดตัวของ Microsoft Copilot Page เพื่อรับกับการใช้งาน Generative AI ในชีวิตการทำงานประจำวันของพวกเราแล้ว ทาง Microsoft ก็ยังมีการเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า Copilot Action ด้วย
และจาก session “Explore technical details and applications of Microsoft 365 Copilot Business Chat, Copilot Pages, and Copilot Actions” (BRK274) ที่มาที่ไปของ Copilot Action นั้นน่าสนใจ และพลรู้สึกว่าแทรกไอเดียดีๆ อยู่ด้วย เลยขอยกเอามาเล่าสู่กันฟังครับ
ถึงใช้ Generative AI คล่องแล้ว แต่เราพบว่า มันก็เหนื่อยอยู่นะ
ใน session มีการคุยในทำนองที่ว่า
การใช้งาน Copilot นั้นเริ่มต้นจาก prompt
prompt ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิธีที่เราใช้สื่อสาร และทำงานกับ Generative AI แล้วก็จริง แต่จากการสังเกตการใช้งาน ถึงแม้ว่าเราจะเขียน prompt เป็นแล้ว สั่งงานได้แล้ว แต่มันเผยให้เห็นถึง 3 ข้อจำกัดของ “การใช้ prompt” ในการใช้ประโยชน์จาก AI
1. สมองเรารับหน้าที่คิด prompt เยอะไป (Cognitive Overload)
ลองนึกถึงเวลาที่เราจะใช้ Generative AI เรารู้ว่าเราอยากได้อะไร และสมองเราก็จะเริ่มนั่งคิด prompt ใช่ไหม? ทีนี้ลองนึกดูว่าถ้าเราต้องมานั่งคิด prompt ให้กับการทำงานหลายๆ แบบ และบางอย่างก็ไม่ถนัด (เช่น พลไม่โปร Excel เลย จะคุยกับ Copilot เพื่อให้มันทำอะไรบางอย่างผ่าน Excel นี่ท้าทายมาก)
ซึ่งส่ิงที่ Copilot Action นำเสนอ คือการเตรียม template สำหรับงานต่างๆ ในชีวิตองค์กรของเราให้เริ่มต้นได้โดยง่าย และแน่นอนว่าน่าจะสามารถสร้างไว้แจกจ่ายกันในองค์กรได้ด้วย
2. เราสลับบทบาทในการทำงานกับ Generative AI เยอะไป (Context Switching)
ส่วนตรงนี้น่าสนใจ เพราะถ้ามานั่งมองการใช้งานอย่างละเอียด เราจะสวมบทบาทเป็นทั้งฝั่งคนควบคุม และคนใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ของ AI
เช่นการสร้าง to-do list ประจำวัน เราจะมี 2 บทบาท
- เปิด Copilot มานั่งใช้ prompt เพื่อสรุปงานประจำวันไว้เป็น to-do list ตอนเช้า (พลขอเรียกส่วนนี้ว่า Command)
- ได้ to-do list มา แล้วก็ใช้ to-do list ทำงานในวันนั้น (พลขอเรียกส่วนนี้ว่า Consume)
แนวทางของ Copilot Action คือความสามารถ Passive Behavior หรือในตอนใช้จริง เราจะเรียกว่า Schedule หรือ Trigger เพื่อเรียกใช้งาน prompt นั้นแทนตัวเราเอง ดังนั้นแทนที่เราจะสวมบทบาทเป็น command เราก็จะรอการทำงานของ Copilot ในฝั่ง consume อย่างเดียว
แต่แน่นอน ก็ต้องเริ่มจากการกำหนด prompt และตั้งค่าไว้ก่อนด้วยนะ
3. เราเน้นไปที่งานยิบย่อย แทนที่จะเป็นเป้าหมาย (Focus on tasks, not objective)
แบบสั้นๆ ก็คือบางครั้งเป้าหมายในการทำงานของเรา มันประกอบไปด้วยขั้นตอนยิบย่อยมากมาย เช่น การสรุปการประชุมประจำสัปดาห์มักจะมีขั้นตอนดังนี้
- เช้าวันจันทร์ จะมีการส่งข้อความไปหาสมาชิกในทีม เพื่อให้เสนอหัวข้อในการประชุม เพื่อใช้ในวันศุกร์
- ระหว่างสัปดาห์เราจะมีการตามหัวข้อจากคนที่ยังไม่ส่งอะไรเข้ามา
- วันพฤหัสเราจะมีการสรุปรวมหัวข้อจากทุกคนในทีมเพื่อใช้เป็น agenda การประชุมในวันรุ่งขึ้น
ถ้าได้ใช้ Copilot แล้ว เราจะพบว่าเราสามารถใช้ prompt ในแต่ละขั้นตอนได้ก็จริง แต่เรายังต้องอยู่ใน process ดังกล่าวตลอด ทำให้ถึงแม้จะสะดวก แต่เราก็ยังขี้เกียจ เอ้ย ประหยัดเวลาได้ไม่สุดนั่นเอง
Copilot Action ได้เสนอวิธีแก้ไขปัญหานี้ โดยทำงานแบบ end-to-end process โดยใช้รูปแบบจาก 2 ข้อแรกเพื่อสร้างกลไกอัตโนมัติขึ้นมาในการทำทุกขั้นตอนแทนเรา ทำให้เราสามารถอยู่ในฝั่ง Consume ได้แบบที่ได้คุยกันไปแล้วในข้อ 2 ครับ
ไอนี่มัน Power Automate ป่ะ?
มาถึงตรงนี้ สำหรับพวกเราชาว Power Platform อาจจะเริ่มตะหงิดๆ ว่า คุณสมบัติที่ Copilot Action นำเสนอมานั้น มัน Automate Flow หรือเปล่านะ
ใช่ครับ พลมองว่า Copilot Action มีความคล้ายกับ Automate flow มากเหมือนกัน แต่มีการยกระดับวิธีใช้งานมาทำงานกับ Prompt และ Generative AI เป็นหลัก ทำให้อาจจะเรียกได้ว่า Copilot Action เป็นตัวแทนของ Automate Flow ในยุค Generative AI ก็เป็นได้นะ
ไอนี่มันมีมานานแล้วไม่ใช่หรอ
ใช่ครับ พลมองว่าเทคนิคของการ reuse prompt ไม่ใช่ของใหม่ จริงๆ ในฝั่งของ Copilot เอง หรือเครื่องมืออื่นๆ อย่าง Claude หรือ Github Copilot หรือไม่ก็ Midjourney นั่นมีส่วนที่ให้คนใช้เก็บ แชร์ หรือ reuse prompt นานแล้ว
แต่ในก้าวเดินของ Copilot Action นี้ สิ่งที่ Microsoft นำเสนอ คือการประยุกต์เอา Generative AI มารวมเข้ากับระบบ automate และจักรวาลของ Microsoft 365 ที่หลายบริษัทก็ใช้ขับเคลื่อนงานของตัวเอง ให้สะดวกมากขึ้นไปอีก เดี๋ยวต้นปีหน้าออกมาดีไม่ดีอย่างไร มาอัพเดตกันต่อ
คิดเห็นอย่างไร เม้นคุยกันได้น้า