ในใช้แอพพลิเคชั่นในมือถือสักตัว หลายๆ สิ่งที่พวกเราเห็นและกดปุ่ม เช่น การสั่งซื้อของ, การเลือกดูรายการสินค้า การพิมพ์แชทกับเพื่อน, หรือการส่งสติ๊กเกอร์แนวๆ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ถูก “คาดการณ์” และเตรียมเอาไว้ล่วงหน้าแล้วทั้งสิ้น
นั่นคือแนวคิดหนึ่งในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่อยู่มานาน ฝั่งนักพัฒนาจะออกแบบ “เส้นทาง” ที่อาจจะเรียบง่าย หรือซับซ้อน ให้ผู้ใช้ทั่วไปเลือกเดิน แต่ท้ายที่สุดมันจะมีจุดสิ้นสุด และเราก็ปิดแอพนั้นลง
แต่ปัจจุบัน เรากำลังก้าวไปถึงจุดที่เราสามารถสั่งให้ตัวแอพพลิเคชั่นนั้นๆ สามารถ “เรียนรู้” และ “จำ” บางอย่าง เพื่อไปปรับการทำงานของตนเอง โดยที่ทั้งนักพัฒนาเอง หรือผู้ใช้ก็ไม่อาจทราบได้ถึงขีดพลังเมื่อมันได้ “เรียนรู้” มากพอ
ปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันอีกต่อไป
จริงๆ ปัญญาประดิษฐ์ หรือที่เรียกกันในหนังเท่ๆ ว่า เอไอ (A.I) ซึ่งพลจะขอเรียกว่าเอไอในบทความนี้ นั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่มันอาจจะยังดูไม่ฉลาดพอที่เราจะสังเกตเห็นก็ได้
เช่น
- ระบบร้านค้าออนไลน์ที่เห็นเราซื้อมือถือ iPhone พอกดหยิบใส่ตะกร้า มันก็แสดงรายการของเคสมือถือ หรืออุปกรณ์เสริมมาให้เราเลือก ก่อนที่จะกดจ่ายเงิน
- ระบบนำเสนอข่าวที่เราสนใจเป็นพิเศษ ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค โดยดูจากการกดอ่าน หรือไลค์ และกดแชร์ของเรา
- ระบบแสดงโฆษณา ที่เราเพิ่งค้นหาในชั่วโมงที่แล้ว ในแอพพลิเคชั่นของเรา
ซึ่งระบบพวกนี้สามารถตั้งค่าการทำงานได้โดยนักพัฒนา เพียงแต่มีรูปแบบที่ตายตัว จึงดูเหมือนว่ามันยังไม่ใช่เอไอล้ำๆ เหมือนในหนังที่เราวาดฝันไว้สักเท่าไหร่ แต่มันก็เริ่มที่จะทำงานแทนที่มนุษย์ได้ และเริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
มันอยู่ในมือถือของเราแล้ว
โดยปกติแล้ว หุ่นยนต์ตัวร้ายเป็นกรดในหนัง อาจจะเป็นแค่หุ่นตั้งโชว์ หากมันไม่ได้รับข้อมูลมากพอที่จะเริ่มปรับการทำงานของเรา
ในโลกที่ทุกคนส่งภาพผ่านแอพไลน์, โฟสข้อมูลผ่านเฟสบุ๊ค, คอมเม้นต์งานใน Office 365 บอกได้เลยว่าสมาร์ทโฟน ทำให้การป้อนข้อมูลเข้าระบบเอไอพวกนี้ทำได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และข้อมูลจำนวนมหาศาล ก็ไหลเข้าไปให้เอไอเรียนรู้
ในโลกของเอไอ มีส่วนหนึ่งที่เรียกว่า Machine Learning ครับ ตามความหมายคือวิธีการที่จะ “สอน” ให้ระบบเข้าใจข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ และเอาไปใช้
เหมือนถ้าจะสอนให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็น ก็อาจจะให้เรียน A, B, C ก่อนที่จะสอน Tense เป็นต้น
อ่านดูเหมือนลึกล้ำ ยากจะเข้าถึง แต่เชื่อไหมครับว่า Machine Learning ในปัจจุบันเข้าถึงง่ายขึ้น และถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างที่เราไม่รู้สึกตัวเลย
เมื่อ Machine Learning ง่ายสำหรับทุกคน
เมื่อเราได้ยินศัพท์ทางเทคนิคในตอนแรกเราจะยังไม่เข้าใจ และจะกลัวไปว่า อะไรที่มันดูวิทยาซ้าย วิทยาศาสตร์มันย้าก ยาก แต่สำหรับ Machine Learning ในตอนนี้มันง่ายพอที่เราจะอ่านเข้าใจ เหมือนกับวิธีการปลูกผักกินเลยล่ะครับ
โดยแหล่งการทำความเข้าใจสำหรับ Machine Learning เริ่มต้น มีที่น่าสนใจประมาณนี้
- ทำความเข้าในเรื่อง Machine Learning โดย TensorFlow
- คอร์สออนไลน์ Data Science Essentail โดย Microsoft บน edX
- คอร์สเรียนออนไลน์เรื่อง Machine Learning ของ Coursera
ซึ่งหลังจากเข้าใจแนวคิดของ Machine Learning แล้ว ถามว่าต้องเอาไปสร้างหุ่นยนต์ใช่ไหม? ไม่เลย เพราะเราเอามาใช้ช่วยงานหรืออุตสาหกรรมต่างๆ ได้ดังนี้ เช่น
- หนุ่มชาวญี่ปุ่นใช้สร้างระบบคัดแตงกวาเสียออกจากไร่ของพ่อแม่เขา
- กูเกิ้ลใช้ในระบบจัดการไฟล์เอกสารออนไลน์ เพื่อให้แสดงไฟล์ที่เหมาะสมกับลูกค้าให้ใช้งานได้ทันที
- อโดบี (Adobe) ใช้ในระบบ Sensei เพื่อปรับปรุงการทำงานของเครื่องมือการแต่งภาพ และวิดีโอของตัวเอง
ดังนั้นโลกขยับอีกครั้งแล้ว และการขยับครั้งนี้ก็ไม่ได้ยากเกินความเข้าใจของพวกเราทุกคน ว่างๆ ของอ่านแนวคิดของ Machine Learning กัน
ภาพโดย – Jonathan Lin
แรงบันดาลใจจาก – Harvard Business Review