ความแตกต่างหนึ่งของการสร้างโมบายล์แอพพลิเคชั่น เมื่อเทียบกับเว็บแอพคือ แอพพลิเคชั่น iOS จำเป็นต้องถูกสร้างขึ้นบนระบบปฏิบัติการของ Apple ที่ชื่อ OS X หรือล่าสุดคือ macOS เท่านั้น (อย่างน้อยก็เป็นแบบนี้มาน๊าน นานแล้ว)
แต่เนื่องจากสมัยก่อน iPhone เรืองอำนาจ พวกเราสามารถเลือกหาคอมพิวเตอร์ราคาไม่แพงมาใช้ในการทำงานโดยเฉพาะการพัฒนาเว็บ และแน่นอน เราลง Microsoft Windows ทำให้พอมาถึงยุคของโมบายล์แอพพลิเคชั่น ทำให้เราต้องมานั่งคิดว่า
“ซื้อแมคดีมั้ย”
มันมีโปรเฟร้นฟรายด์เป็นพักๆ นะ (ไม่ใช่!)
สุดท้ายแล้ว ก็ต้องซื้อ Mac
โดยเฉพาะตอนนี้ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จาก Apple ที่ยืนกรานมาตลอดว่า แอพ iOS ต้องถูกสร้างขึ้นบนระบบ OS X และ macOS เท่านั้น
เพราะมันมีเงื่อนไขหลักคือ ระบบที่ทำการสร้างไฟล์แอพพลิเคชั่นให้กับ iOS มีชื่อว่า iOS SDK ออกแบบมาให้ติดตั้งและใช้งานบนระบบปฏิบัติการของ Apple
และถ้าให้วิเคราะห์ มันคงเป็นแบบนี้ไปอีกสักพักใหญ่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนิยมของ iOS (และกำลังซื้อมหาศาลบน App Store) ทำให้นักพัฒนาจำเป็นต้องซื้อเครื่อง Mac มาใช้งานภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว
เพียงแต่เราจำเป็นต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อ Mac โดยทันทีไหม? คำตอบอาจจะไม่ใช่ก็ได้ อ่านต่อเนอะ
ในความเป็นจริง เราไม่ต้องซื้อ Mac แพงๆ เพื่อทำแอพ iOS
เพราะจากการที่เขียนแอพมาทั้ง Native จนมาคั่วกับเทคโนโลยี Cross Platform (ที่เขียนทีเดียวได้ 2 ระบบอะไรงี้) มันทำให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าเราสามารถเลือกหา Mac มาใช้ได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแพงมากเกินไป
แบ่งได้ตามการเอาไปใช้งานดังนี้
ระดับ 1 ต้องการเอาแค่สร้างไฟล์แอพ iOS และส่งขึ้น Store
เหมาะกับเคสเหล่านี้
- ไม่ได้พัฒนาแอพแบบ Native บน Mac มากนัก
- ใช้พวกเทคโนโลยี Cross Platform ที่เขียนโค้ดบน Windows ก่อนได้ พอทดสอบกับ Android จนพอใจก็เอามาทำใน iOS
- แค่ต้องการ
อันนี้แนะนำให้พี่ๆ น้องๆ ที่อบรมกับพล ว่าถ้าเลือกเทคโนโลยีจำพวก Cross Platform เช่น
- Ionic 2
- NativeScript
- Xamarin.Forms
- PhoneGap
พวกนี้ใช้ลักษณะการแชร์โค้ดของเราเข้าไปในแอพพลิเคชั่นที่เป็น Native ของแต่ละระบบ นั่นคือเราสามารถพัฒนาแอพสำหรับระบบ Android บน Windows แล้วค่อยย้ายโค้ดที่ทำงานได้แล้ว มาปรับนิดหน่อยบนระบบ iOS ได้
ดังนั้นใช้ประโยชน์จาก Mac แค่แปลงโปรเจคของเราเป็นไฟล์ IPA เพื่อทดสอบบน iPhone หรือ iPad หรือส่งขึ้น App Store ก็จัดไปเลย Mac Mini
เพื่อเนื่องจากมันคือคอมตั้งโต๊ะร่างจิ๋วสุด ไม่มีจอ (หาจอมาต่อเอง), ไม่มีคีย์บอร์ด (หามาเสียบเอง), ไม่มี Track Pad และ Mouse (ซื้ออุปกรณ์เสริม หรือ MacBook เอา) ราคามันถึงกดลงมาได้สุด อย่างที่เขียนตอนนี้เริ่มต้นที่ 18,900 บาท
สำหรับการใช้งานอย่างอื่น แบบดูหนัง, เช็คเมลล์, พิมพ์งาน, ฟังเพลงทั่วไป ก็ถูไถได้ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับงานเฉพาะทางอย่างแต่งรูป Photoshop หรือเขียนโค้ดหนักๆ
ระดับ 2 ต้องเขียน หรือพัฒนาแอพบน Mac หนักขึ้น แต่ไม่ต้องเดินทางไปไหน
อันนี้ต่อยอดมาจากระดับ 1 นั่นคือ
- ต้องการเขียนแอพ iOS แบบ Native ด้วยภาษา Objective-C, Swift จริงจัง
- จำเป็นต้องใช้สภาพแวดล้อมของ Apple เยอะกว่าแค่ทำ Mobile App เช่น การเขียนแอพให้กับ Apple Watch
- ต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือของ iOS SDK เช่นการออกแบบแอพด้วย Storyboard
- ไม่อยากให้โต๊ะรก
ระดับนี้คือเริ่มเทมาทาง Mac แล้ว เพราะ Apple ก็ออกแบบองค์ประกอบของระบบมันเหมือนกับดัก คือพอถลำเข้ามาหน่อยหนึงแล้ว มันจะเริ่มมี 2,3,4 ตามมาเรื่อยๆ ฮ่าๆ (ใครที่เริ่มใช้ Mac จะรู้จุดนี้)
นั่นคือเริ่มจริงจังกับการพัฒนาแล้ว ต้องอาศัยสิ่งที่ทำงานได้บนระบบ macOS เท่านั้น และต้องการความลื่นไหลในการทำงานมากขึ้น พูดแล้วเหมือนกำลังจะซื้อคอมมาเล่นเกมส์
ถ้าไม่ย้ายที่บ่อยๆ แบบมาทำที่ออฟฟิศ ทำที่โต๊ะทำงาน พอหมดเวลางานก็โบยบิน จัดไปครับ iMac
มีทั้งแบบจอทั่วไป และจอบาดใจ บาดตา บาดกระเป๋าอย่างรุ่น Retina แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง Mac Mini กับ iMac ถ้ามีทรัพย์ถึงหน่อยก็จัด iMac เลย เพราะมันเอาไว้ใช้งานอย่างอื่นได้อีก
และเคลื่อนย้ายสะดวก หิ้วจอไปพร้อมเครื่องได้ พลเคยมีประสบการณ์ที่ต้องตัดต่อวิดีโอสอนออนไลน์ แล้วต้องแบก iMac ไปด้วย (เพราะเครื่องใช้สอนคือ MacBook Air) พบว่าเคลื่อนย้ายสะดวกมาก
ระดับ 3 ต้องการเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่นได้เรื่อยๆ
แน่นอน มาถึงจุดนี้เราคงไม่เล็งกระติกน้ำสีดำของ Apple แล้วล่ะ แต่เราต้องการสิ่งที่กล่าวมาในระดับ 1 และ 2 แต่อยากไปคุยงานนอกสถานที่, ไปนั่งแก้บั้กริมทะเล, หรือเขียนโค้ดขณะเดินทาง
ตัวเลือกของเราคงจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก MacBook Pro
Macbook ธรรมดาไม่ค่อยเหมาะ ถ้าเทียบราคา กับสเปคแล้ว อยู่ติดที่ก็เลือก Mac Mini กับ iMac เถอะ ราคามันก็มีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความพอใจของแต่ละคน จ่ายมากก็ได้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้น จ่ายน้อยก็เบาลง
แต่ที่สำคัญคือความสามารถในการเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น คนที่มาเรียนทำโมบายล์แอพพลิเคชั่น แบบ Cross Platform หลายๆ คนก็เอา MacBook Pro มา เพื่อจะได้เรียนรู้ทำไฟล์ iOS จริงๆ
สรุป: สุดท้ายก็ต้องซื้อ Mac แต่จะซื้อแบบไหน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน
จะเห็นว่า Apple เหมือนกับใช้ตลาด iOS เป็นตัวดึงความต้องการของ Mac ขึ้นมาส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในฝั่งของนักพัฒนาที่ต้องการเข้ามาหากินในระบบนี้ และก็คงไม่เปลี่ยนแปลงเร็วๆ นี้แน่ คิดดูถ้า Windows ทำแอพ iOS ได้ นักพัฒนาจะซื้อ Mac กันมั้ย
แต่จากที่พลได้ทดลองใช้งาน Mac มา พลพบว่าคุณภาพของสินค้าแอปเปิ้ลมันทนทาน, ใช้ดี, และไม่ก่อความรำคาญใจ ได้เป็นระยะเวลานานอย่างที่เขาร่ำลือกัน อันนี้คอนเฟิร์ม
เช่น ตอนนี้พลก็ยังใช้ MacBook Air ปี 2011-mid แรม 4GB ในการสร้างแอพอยู่ ก็ไม่ได้ช้ามากมายอะไร (จะช้าก็ตอนทดสอบแอพใน Simulator นี่ล่ะ) เทียบกับความสบายใจที่ได้ในการใช้งาน 5 ปี ถือว่าคุ้มนะ อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัว
จริงๆ ตอนนี้ทางฝั่ง Microsoft ก็มี Surface Book ที่ว่าคุณภาพคับแก้วออกมาแล้ว อยากลองเหมือนกัน ถ้ามีโอกาส แต่ตอนนี้ถ้าเราต้องการพัฒนาแอพพลิเคชั่น iOS ยังไงก็ต้อง Mac ล่ะครับ
หวังว่าจะเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้นนะ 😉